การแพร่ธรรมครั้งแรกของคณะ ในภาคพื้นเอเชีย
เซอร์ 4 ท่านจากฝรั่งเศส มุ่งสู่เกาะฮ่องกง ในปี ค.ศ. 1848
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1848 เรือสัญชาติอังกฤษ นำเซอร์ชาวฝรั่งเศส 4 ท่าน ได้แก่ เซอร์ออกุส แกลลัว เซอร์กราเบรียล ชูแบง เซอร์หลุยส์ มอร์ส นำโดยเซอร์อัลฟองซีน ฟอร์แกต (ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของสังฆรักษ์แห่งฮ่องกงในเวลานั้น) เดินทางถึงยังอ่าววิคตอเรีย เกาะฮ่องกง ตามคำเชิญของ คุณพ่อเทโอดอร์ – ออกุสแตง ฟอร์แกต สังฆรักษ์แห่งฮ่องกงในเวลานั้น (ท่านได้รับการแต่งตั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1847)
แม้ระยะทางที่แสนไกลนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าจากการเดินทางกว่า 4 เดือน แต่กิจแห่งเมตตาธรรมจำต้องเริ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เซอร์ทั้งหมดมิรอช้า ลงมือปฏิบัติงานทันที โดยเริ่มจากเขตว่านไฉ ไม่ไกลจากทีพักเท่าใดนัก ก็สามารถพบเด็กที่ถูกทิ้งมีอยู่ให้เห็นดาษดื่น ทั่วเกาะ เด็ก ๆ ผู้ถูกทอดทิ้งนี้มิอาจรอช้า เสียงเรียกร้องแห่งความทุกข์เวทนา ของบรรดาเด็ก ๆ ระงมไปทั่ว “บ้านสำหรับเด็กกำพร้า” เหล่านี้จึงเปิดขึ้นเพื่อรองรับเด็ก ๆ เหล่านี้ และนั่นคือ “ก้าวแรก” และ “กิจการแรก” ของคณะในเอเชีย
ต่อมา คณะเซอร์ได้เริ่มขยายกิจการแห่งเมตตาธรรม ด้านการให้การศึกษาอบรม และสถานสงเคราะห์คนชราไปยังคอสเวย์เบย์ ที่ว่านไฉนั่นบรรดาเด็กกำพร้าทวีจำนวนขึ้น สถานที่มิอาจรองรับได้อีกต่อไป จึงมีการย้ายบรรดาเด็ก ๆ บางส่วน รวมถึงเด็กที่ป่วย ไปยัง แฮปปี้วาเลย์ ในปี ค.ศ. 1907 และ ที่สุดกิจการที่ว่านไฉ จำต้องปิดลง ในปี ค.ศ. 1915 กิจการต่าง ๆ ของคณะ จำเป็นจะต้องย้ายไปรวมกันที่ คอสเวย์เบย์ และนั่นคือ “ศูนย์กลางแห่งการแพร่ธรรมของคณะ” ที่ฮ่องกงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จวบจนปัจจุบัน
ปัจจุบันคณะมีโรงพยาบาล และโรงเรียนที่ใหญ่โต มิใช่เพื่อบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ หรือความร่ำรวยใด แต่เพื่อบอกเล่ากิจการแห่งเมตตาธรรมที่ได้เริ่มต้นขึ้น เติบโต งอกงาม และแผ่ขยายออกไป เพื่อให้พอเพียงต่อความต้องการ ในการเรียกร้องของพระศาสนจักรท้องถิ่น และบรรดาผู้ทุกข์ยาก บุคคลชายขอบ และผู้ยากไร้ที่ขยายจำนวนขึ้น ตามการเติบโตของสังคมด้านวัตถุด้วยเช่นกัน