ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง...ณ บางนกแขวก
ค.ศ. 1913 - 1925
ในปี ค.ศ. 1904 คุณพ่อปอล ซัลมอง เจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ และความเจริญทั้งปวง ได้ขอให้คณะเซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาทำงานที่บางนกแขวก ซึ่งพระคุณเจ้าเวย์ ได้ให้ข้อสังเกตว่าคุณพ่อปอล ยังไม่มีที่พักให้กับพวกเซอร์ แต่คุณพ่อก็ยังไม่ละความพยายาม เมื่อได้สร้างบ้านพักสำหรับคณะเซอร์ พร้อมด้วยโรงเรียนของเด็กหญิง และเด็กชายเสร็จเรียบร้อยแล้ว
คุณพ่อปอล ซัลมองก็ได้ร้องขอมาทางคณะอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1913 แมร์กังดีดที่ได้มาเยี่ยมเยียนเซอร์ในสยาม แมร์แซงต์ซาเวียร์ พร้อมด้วยเซอณ์ 2 ท่าน คือ เซอร์มาธิลด์ เดอ แซงต์ปอล ชาวเบลเยี่ยม และเซอร์มาร์ติน โจเซฟ ชาวฝรั่งเศส ได้ออกเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 8:00 น. ถึงสถานีแม่กลองเวลา 12.00 น. ต่อจากนั้นก็ลงเรือโดยสารถึงบางนกแขวกเวลา 15:30 น. คุณพ่อปอล ซัลมอง ดีใจและตื้นตันใจมากที่ได้เห็นคณะเซอร์มาช่วยทำให้ความฝันของท่านเป็นความจริง เพราะคุณพ่อฝันว่าจะได้เห็นเด็ก ๆ ทั้งชายหญิง ได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นคริสตชนที่ดี คุณพ่อยังฝันอีกว่าจะได้เห็นชาวบ้าน ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกวิธี และกระทั่งคนโรคเรื้อนก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คุณพ่อยังฝันที่จะได้เห็นคณะภคินีรักกางเขนที่ช่วยงานคุณพ่อได้มี “พี่เลี้ยง” ที่จะช่วยให้ชีวิตนักบวชได้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็งและมั่นคง
เซอร์มาธิลด์ เดอ แซงต์ปอล ผู้เป็นอธิการิณี ได้รับหน้าที่ในการดูแลเด็กกำพร้า อบรมสั่งสอนเด็กหญิงให้ได้รับการศึกษาที่ดี และเป็นผู้ดูแลอบรมเรื่องการดูแลสุขอนามัย ให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วย ตลอดจนคนโรคเรื้อน ส่วนเซอร์มาร์ติน โจเซฟ รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคณะภคินีรักกางเขนบางช้าง พร้อมทั้งดูแลเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ดูความสะอาดภายในวัด
เนื่องจากที่บางนกแขวกนี้ ชาวบ้านมีอาชีพทำสวน การคมนาคมจึงเป็นทางเรือเท่านั้นในช่วงฤดูน้ำหลากเด็ก ๆ ก็จะพายเรือมาเรียนที่โรงเรียน ซึ่งอยู่ใกล้วัด แต่ในช่วงที่น้ำแล้งเด็ก ๆ ก็ไม่สามารถที่จะพายเรือมาเรียนได้ คุณพ่อปอล ซัลมอน จึงได้รื้อวัดเก่าที่คุณพ่อราบาร์เดลสร้างไว้ ไปสร้างโรงเรียนและวัดน้อยขึ้นในสวน ให้ชื่อว่า “โรงเรียนพระหฤทัย” (วัดใน) มีห้องเรียน 2 ห้อง และมีวัดน้อยอยู่ตรงกลาง โรงเรียนนี้ได้รับการเสกในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1913 โดยพระสังฆราชแปร์รอส ได้เดินทางมาเสก และอวยพร
ดังนั้นในฤดูน้ำแล้ง ทุกวันจึงมีครูนั่งเรือจากบางนกแขวกไปสอน และมีเซอร์มาธิลด์ไปด้วย สัปดาห์ละ 2 วัน
นอกจากนี้แล้ว คุณพ่อปอล ซัลมอน ยังเป็นผู้ที่ใจเมตตา อย่างไม่มีขอบเขต คุณพ่อรักคนโรคเรื้อน ท่านได้พาคนโรคเรื้อนมาให้เซอร์มาธิลด์รักษา เมื่อมีจำนวนมากขึ้นท่านจึงได้สร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาคนโรคเรื้อน แต่ท่านก็ถึงแก่กรรมก่อนที่จะได้เห็นความฝันของท่านเป็นจริง
ส่วนเซอร์มาร์ติน โจเซฟที่รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของภคินีรักกางเขน ต้องทนทุกข์ต่อความกระด้างกระเดื่อง จากการไม่ยอมรับของภคินีบางคน ที่ไม่ต้องการให้ใครมาปกครอง และไม่พอใจในวินัยที่เข้มงวดขึ้น แต่ด้วยความรักและความอ่อนหวาน และการให้อภัย เฉกเช่น “มารดา” ตลอดจนความเพียรทน ก็ทำให้ปัญหาทั้งสิ้นจบลง
12 ปีที่บางนกแขวก… ที่เซอร์ทั้งสองได้อุทิศชีวิตแรงกาย แรงใจ… ในการอบรมสั่งสอนเด็ก ๆ… ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย… ในการเป็นพี่เลี้ยงภคินีรักกางเขน และในการเป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิตที่บางนกแขวกที่รักยิ่งแห่งนี้