อุบลราชธานี...ศูนย์คาทอลิกแห่งแรก
ค.ศ. 1904 - 1942
เมื่อได้ทราบข่าวว่าคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร จะมาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยอบรมดูแลบรรดาผู้ฝึกหัด เพื่อเตรียมตัวเป็นนักบวช คุณพ่อดาแบง ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดบุ่งกะแทว และเป็นผู้ดูแลอาราม ก็ได้เตรียมต้อนรับคณะเซอร์ เป็นอย่างดีสุดความสามารถ ท่านได้เตรียมสถานที่พักอาศัย ให้เหมาะสมกับผู้ที่จะมาช่วยงานของมิสซัง
คณะเซอร์ได้รับการต้อนรับอย่างดี จากบรรดาคุณพ่อ และชาวอารามแม่พระ อุบลทุกคน เด็ก ๆ และชาวบ้านบุ่งกกะแทว ซึ่งได้แสดงความยินดี และความกระตือรือร้นในการต้อนรับ ทุกคนต่างพากันมายืนรวมกันอยู่ที่ริมแม่น้ำ เพื่อต้อนรับพวกเซอร์ ระฆังก็ตีอย่างร่าเริง ก่อนอื่นใดพวกเซอร์พากันไปที่วัด เพื่อโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับการเดินทางที่ปลอดภัย และฝากไว้ซึ่งกิจการที่จะเริ่มต้นจากนี้ไป แล้วจึงไปที่บ้านพัก ที่นั่นมีพวกหญิงพรหมจารีชาวคริสต์ 2 – 3 คน เด็กหญิงมีเป็นจำนวนมากพอสมควร เด็กกำพร้าที่โตแล้วบางคน รวมทั้งหญิงชราที่เป็นง่อย และเจ็บป่วย นี่คือศูนย์คาทอลิกแห่งแรก ที่คุณพ่อโปรดอม อุปสังฆราชได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีมาแล้ว
เซอร์ทุกคนยินดีที่จะอุทิศตนเอง และเอาใจใส่ในหน้าที่ ซึ่งพระสังฆราชกืออาส มอบหมายให้ ด้วยความสำนึกรับผิดชอบ ในการอบรมผู้สมัครเข้าอาราม ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ 6 คน และมีโนวิสชาวพื้นเมือง 2 คน ให้มีความเข้าใจดี ในชีวิตนักบวช จิตตารมณ์ศีลบนทั้ง 3 ประการ คือ ความบริสุทธิ์ ความยากจน และความนบนอบ เพื่อจะเป็นนักบวชที่ดี การอบรมจิตใจนี้เป็นหน้าที่สำคัญ ของเซอร์ผู้ได้รับมอบหมาย และได้รับเตรียมตัวมาโดยเฉพาะ สำหรับเซอร์คนอื่น ๆ ก็ได้เอาใจใส่ในหน้าที่ และงานที่ได้รับผิดชอบอย่างดีด้วยเช่นกัน
ปี 1906 หลังจากได้ทำงานแพร่ธรรมที่อุบลฯ ได้ 2 ปี พวกเซอร์ก็ต้องยอมรับด้วยความสุภาพถ่อมตนว่า
“ในมุมนี้ของลาวเรา ไม่ได้ทำสิ่งประหลาดอัศจรรย์อะไร… เช่นที่เซอร์ของเราเป็นจำนวนมากได้กระทำในอินโดจีน เพราะพวกเขาสามารถเก็บดวงวิญญาณได้เต็มผ้ากันเปื้อนเลยทีเดียว จนกระทั่งบัดนี้มีเพียงเด็กเล็ก ๆ 3 คน ที่ถูกแย่งตัวมาจากปีศาจได้เท่านั้น”
ส่วนพวกสมัครเณรี ซึ่งมีอยู่ 14 คน เซอร์ชาน เดอ แซงต์อักแนส ได้สอนเขาด้วยแบบฉบับ มากกว่าคำพูด ใน 14 คนมี 2 คนเท่านั้น ที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นคริสตชน ส่วนคนอื่นที่เหลือ มาจากศาสนาอื่นซึ่งบิดามารดาของพวกเขายังไม่ได้กลับใจมานับถือศาสนาคาทอลิก มีเด็กสาวต่างศาสนาหลายคนเริ่มเข้ามาใกล้พวกเซอร์ทุกที และไปเป็นเพื่อนพวกเซอร์ ในการออกเยี่ยมตามหมู่บ้านในละแวกนั้น จึงนับว่า “มีแสงสว่างเรือง ๆ อย่างงดงามปรากฏขึ้นที่ท้องฟ้า”
“บ้านที่อุบลฯ” เป็นบ้านที่คณะเซอร์เซนต์ปอลฯ ได้ทำคุณงามความดีไว้มาก มีความทุกข์ยาก และกางเขนอยู่ทั่วไป แต่บ้านที่อุบลฯ เป็นผลงานที่มีชีวิต และชีวิตนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังนักบวชหญิงชาวพื้นเมือง โดยคณะเซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระคุณเจ้าแกวงได้เขียนจดหมายมาชมเซอร์ชาน เดอ แซงต์อักแนส ที่ได้ปกครองอารามแม่พระอุบลเป็นเวลานานถึง 28 ปี 1907 ถึง 1936 เซอร์เป็นคนอ่อนโยน ให้ความรักความเอาใจใส่ “ดุจมารดา” ในการอบรมบรรดาภคินีพื้นเมืองเป็นอย่างดี และเซอร์ฟรังซัวส์ ออกุสติน ที่ปกครองอาราม 2 ปีว่า เป็น “เซอร์เซนต์ปอลฯ ที่สง่างาม”ยิ่งนัก
38 ปีที่อุบลกับการเป็น “พี่เลี้ยง” ของคณะภคินีรักกางเขน ที่อุบลราชธานี โดยมีจุดหมายเพียงอย่างเดียวคือ ขอให้พระอาณาจักรจงมาถึง