ก้าวแรก พันธกิจด้านการพยาบาล ณ ดินแดนสยาม
พันธกิจแรกของคณะในดินแดนสยาม เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1898
ในปี ค.ศ. 1887 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริว่า ชาติตะวันตกกำลังขยายอาณาเขตแสวงหาเมืองขึ้น ทรงพระราชวิตกว่า จะกระทบกระเทือนถึงราชอาณาจักรไทยด้วย จึงทรงปฏิรูปแก้ไขรูปแบบการปกครอง รวมทั้งการเงิน การคลัง กฎหมาย ไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข รถไฟ การพยาบาล สาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อให้รุดหน้าทัดเทียม ซึ่งในการนี้ต้องอาศัยชาวตะวันตกที่ชำนาญการในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนชาวตะวันตก โดยเฉพาะแถบตรอกโอเรียนเต็ล สุรวงศ์ บางรัก สีลม สาทร บ้านทวาย จึงทำให้เกิดความต้องการทางด้านสาธารณูปโภคที่ทันสมัย ตามมาตรฐานของชาวตะวันตกเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1895 ฯพณฯ พระสังฆราชชอง หลุยส์ เวย์ (Mgr. Louis Vey) ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น จึงได้มีหนังสือถึงแมร์กังดีด (Mère Candide) เจ้าคณะภาคตะวันออกไกล ซึ่งประจำอยู่ที่ไซ่ง่อน ความตอนหนึ่งว่า…
“ที่กรุงเทพฯ ซึ่งพลเมืองนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด จำเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลสำหรับชาวยุโรปขึ้น
และบุคคลผู้มีอิทธิพลในเมืองนั้นได้เรียกร้องให้มีนักบวชหญิงมาปฏิบัติงาน
ทางมิสซังเสนอให้ที่ดินและจะเป็นผู้ออกค่าก่อสร้าง”
หลังจากนั้น 3 ปี บรรดาเซอร์ทั้ง 7 ท่าน ที่ได้รับเลือกให้ปฏิบัติพันธกิจนี้ คือ :
เซอร์อิกญาส เดอ เยซู ฟูรนิเอร์ – ชาวฝรั่งเศส – อธิการิณีท่านแรก
Sr. Ignace de Jésus FOURNIERเซอร์แซงต์โดนาเซียง ดูวาล – ชาวฝรั่งเศส
Sr. St.Donatien DUVALเซอร์กามิลล์ เดอ เยซู จ๊อบ – ชาวฝรั่งเศส
Sr. Camille de Jésus JOBเซอร์เซราฟิน เดอ มารีย์ ลูทเทนบาคเคอร์ – ชาวฝรั่งเศส
Sr. Séraphine de Marie LUTTENBACHERเซอร์มารีย์ เอดมองด์ ธัน – ชาวเวียดนาม
Sr. Marie Edmond THANเซอร์เออแชน ดู ซาเครเกอร์ ฮาร์โรลด์ – ชาวยูเรเซียน (ฝรั่งเศส-จีนฮ่องกง)
Sr. Eugene du SC HARROLDเซอร์ชอง-แบ็กมองส์ เปเรย์รา ดา ซิลวา – ชาวจีน (มาเก๊า)
Sr. Jean-Berchmans PEREIRA da SILVA
ทั้งหมดได้ออกเดินทางจากไซง่อน เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1898 (เวลานั้นศูนย์กลางของคณะอยู่ที่ประเทศเวียดนาม) และเดินทางถึงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1898 เพื่อมาปฏฺิบัติงานในสยาม ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ริมคลองสาทร ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1898
โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์นั้น คือความริเริ่ม และการเป็นผู้มีวิสัยมองการณ์ไกลของพระสังฆราช ชอง หลุยส์ เวย์ ประมุขของมิสซังสยามในเวลานั้น ท่านได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังสยามเมื่อปี ค.ศ. 1875 โดยก่อนหน้าท่านได้ริ่มเริมกิจการแห่งเมตตาธรรมไว้หลายอย่าง และด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง ที่จะให้มิสซังมีสถานพยาบาล โดยท่านได้มอบหมายให้คุณพ่อโรมิเออ ในการจัดหาที่ดินเมื่อปี ค.ศ. 1895 และเริ่มดำเนินการสร้างโรงพยาบาลในปีต่อมา
โรงพยาบาลแห่งนี้มีชื่อ “โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์” เพื่อระลึกถึงท่านนักบุญหลุยส์ ศาสนนามของ พระสังฆราช ชอง หลุยส์ เวย์ และของคุณพ่อโรมิเออ ซึ่งทั้งสองท่าน เป็นผู้ที่ทำให้กิจการของโรงพยาบาลเริ่มต้นได้
การเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1898 แต่จำต้องเลื่อนไป เนื่องจากอาการป่วยของพระคุณเจ้าเวย์ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จึงจัดให้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการใน “วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1898”
โดยในระยะแรกนั้น มี นายแพทย์ อา ปัวซ์ (Dr. A. Poix) เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยท่านได้เดินทางเข้ามาดินแดนในสยาม เมื่อปี ค.ศ. 1897 นับว่าได้นำการแพทย์แผนปัจจุบันสู่ประเทศสยามได้ ทำงานกันอย่างเสียสละโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ให้การรักษาพยาบาลโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา นายแพทย์ปัวซ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทำหน้าที่เป็น “แพทย์ประจำพระองค์” แพทย์ประจำราชสำนัก และต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอัศวินอำนวยเวท”
ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของคณะเซอร์ปอล เดอ ชาร์ตรในดินแดนสยามแห่งนี้