ก้าวที่สอง...หน้าที่ของพี่เลี้ยง
หน้าที่ของพี่เลี้ยง และผู้ดูแล เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1900
คุณพ่ออาลอยส์ อัลฟองส์ ดอนต์ (Aloysius Alfonsus D’hont) หรือเรียกว่า “คุณพ่อปีโอ ดอนต์” เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกสำหรับสัตบุรุษ
เวลานั้นคุณพ่อเป็นผู้รักษาการผู้แทนพระสันตะปาปาประจำกรุงสยาม เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1898 ท่านเป็นผู้เขียนถึงแมร์กังดีด เนื่องจากท่านได้เห็นพวกเซอร์ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จึงรู้สึกชื่นชมถึงการอุทิศตน ความเสียสละ และการเอาจริงเอาจังในการทำงานมาก จึงเขียนขอพวกเซอร์มาอีกเพื่อกิจการที่ท่านรักเป็นพิเศษ…
“เรื่องเป็นอย่างนี้ ที่กรุงสยามเรามีกลุ่มนักบวชหญิงพื้นเมืองอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอุทิศตนทำงานของมิสซัง
นักบวชหญิงเหล่านี้ติดตามธรรมทูตไปยังแหล่งที่ไกลที่สุด
ใช้ชีวิตเหมือนคนในถิ่นนั้น และรับใช้เราในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
ทำโรงเรียน และสอนสตรีซึ่งปรารถนาจะกลับใจ
ข้าพเจ้าปรารถนาจะสร้างนักบวชหญิงที่แท้จริงขึ้นมา จึงใคร่ขอเซอร์สองท่านในคณะฯ
เพื่อมาอำนวยการคอนแวนต์นักบวชหญิงพื้นเมืองด้วยวัตถุประสงค์ ดังที่ได้ชี้แจงไว้แล้ว”
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1900 เซอร์ฮังเรียต และเซอร์ยุสติน ได้มาถึงสามเสน ในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1900
เพื่อดูแลเรื่องการอบรมเด็กสาวที่ปรารถนาจะช่วยพระสงฆ์ธรรมทูต ตามสังฆตำบลให้เป็นนักบวชหญิง
โดยในปี ค.ศ.1902 เซอร์เซราฟิน เดอ มารี ได้มาอยู่ที่อารามสามเสน
และในปีต่อมา ค.ศ. 1903 ได้ทำหน้าที่อธิการิณีแทนเซอร์ฮังเรียต ซึ่งต้องกลับไปไซ่ง่อน
เซอร์เซราฟิน ได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราช เรอเน แปรอส ให้เป็นอธิการของคณะดังกล่าว รวม 2 สมัย คือ
สมัยที่ 1 ปี 1924 – 1942
สมัยที่ 2 ปี 1948 – 1951
ในปี ค.ศ. 1931 อารามที่สามเสน ได้ถูกย้ายไปอยู่ที่คลองเตย คณะเซอร์ และซิสเตอร์ทั้งหมดต้องย้ายไป แม้จะยังไม่เสร็จก็ตาม
อารามแห่งใหม่นี้ ได้ทำพิธีเสกเมื่อ วันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1932 โดย ฯพณฯ พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส
เซอร์เซราฟิน ได้ดำเนินชีวิตท่ามกลางคณะซิสเตอร์ที่ท่านรักมากที่สุด ตลอดระยะเวลา 50 ปี
พระเป็นเจ้าทรงเรียกท่านกลับไปพักผ่อนตลอดนิรันดร์
ในปี ค.ศ. 1952 ร่างของเซอร์เซราฟิน ยังอยู่กับคณะซิสเตอร์ ที่ท่านปรารถนาจะพักผ่อนด้วยชั่วนิรันดร์… ในสถานที่ซึ่ง…บรรดาคณะซิสเตอร์ที่ท่านรักมากเท่าชีวิตพักผ่อนตลอดกาล ณ สุสานของอารามพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ คลองเตย กรุงเทพมหานคร
นอกจากเซอร์เซราฟิน แล้ว คณะฯ ยังได้ส่งเซอร์ท่านอื่น ๆ เพื่อดำเนินชีวิต อยู่ร่วมกับซิสเตอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะ
เซอร์มารี เต็ก ที่นับว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีฝืมือด้านการตัดเย็บที่เป็นเลิศ และทำให้สิ่งเหล่านี้สืบสาน และตกทอดมาจวบจนปัจจุบัน
กับ คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ
มิใช่เพียงคณะรักกางเขนที่สามเสนเท่านั้น ที่คณะเซอร์เซนต์ปอลฯ ได้ไปอยู่ท่ามกลางพวกเขา และทำหน้าที่เฉกเช่นพี่เลี้ยง
ที่คอยช่วยเหลือ ประคับประคอง ชี้แนะ และมอบแบบอย่างต่าง ๆ ให้ด้วยความรัก ยังมีคณะรักกางเขนที่หนองแสง
คณะรักกางเขนที่อุบล และคณะรักกางเขนที่บางช้างด้วยเช่นกัน
สำหรับที่หนองแสงและอุบลนั้น (ก่อนยังเป็นมิสซังลาว โดยแยกออกจากมิสซังสยามเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1899)
โดยพระสังฆราชมารี-โยเซฟ กืออาส แห่งมิสซังลาวในเวลานั้น ได้เขียนจดหมายขอคณะเซอร์ จากแมร์กังดีด โดยแมร์กังดีด ได้ส่งเซอร์ทั้งหมดมา 8 ท่าน มาในปี ค.ศ. 1904 โดยให้อยู่ที่หนองแสง 4 ท่าน และอุบล 4 ท่าน
ที่หนองแสงคณะเซอร์ได้อยู่ที่นี่ ถึงปี ค.ศ. 1940 และที่อุบล ถึงปี ค.ศ. 1942
และนี่นับเป็นก้าวที่สองของคณะเซอร์เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรในประเทศไทย