หนองแสง...ศูนย์กลางมิสซังลาว
ค.ศ. 1904 - 1940
พวกเซอร์ได้ออกเดินทางจากบ้านศูนย์กลางที่ไซ่ง่อน ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1904 เวลา 22.00 น. เซอร์ 8 คนได้ลงเรือเพื่อจะเดินทางไปแพร่ธรรมที่มีมิสซังลาวโดย 4 คน ไปที่อุบลราชธานี ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 9 วัน ส่วนอีก 4 คน ไปที่หนองแสงศูนย์กลางของมิสซัง ต้องใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 21 วัน นับเป็นการเดินทางที่ทารุณแต่หัวใจที่เปี่ยมไปด้วย “ความรักในพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์” กลับมีพลัง และความสุขอย่างบอกไม่ถูก
พวกเธอทั้ง 4 คนที่ได้เดินทางมาถึงหนองแสงศูนย์กลางของมิสซังคือ
1. เซอร์อูร์ซูล โยเซฟ ฟช์รูส
2. เซอร์กุสตาฟ เดอ แซงต์ปอล แปลเลอจีเอร์
3. เซอร์เดส์ ซองส์ อูซูส
4. เซอร์แซงต์เดซีเร โกลล์
หนองแสง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมิสซังลาว พวกเซอร์ได้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความเรียบง่าย และยากจน ห่างไกลจากความวุ่นวายต่าง ๆ เพราะหนองแสงเป็นชนบทที่ อยู่ห่างไกลความเจริญทั้งปวง… ไม่ใช่เมือง… ไม่ใช่แม้กระทั่งหมู่บ้าน… ไม่มีบ้านเรือนอื่นใดเลยนอกจากวัด และช่างเป็นวัดที่ยากจนอะไรเช่นนั้น นอกจากวัดแล้วมีเพียงสำนักพระสังฆราช บ้านของพวกเซอร์ บ้านของนักบวชหญิงพื้นเมือง และเรือนแถวของเด็ก ๆ
พวกเซอร์จึงมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติกลางป่าดงพงพีเลยทีเดียว พวกเซอร์ทำงานอย่างหนัก และมุ่งมั่นตลอดทั้งวันและคืน มีอาหารเพียงข้าว 1 ถ้วย ไม่มีขนมปัง… ไม่มีน้ำนม… ไม่มีเหล้าองุ่น… ไม่มีเนื้อสัตว์… มีเพียงผักหญ้าเล็กน้อย ซึ่งหาเก็บได้ในแถบนั้น และน้ำ 1 แก้วจากแม่น้ำโขงสำหรับดื่ม
พวกเซอร์ดำรงชีวิตด้วยความยากจน เหมือนโยบ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย และเรื่องอาหารการกิน ไม่มีผ้าปูที่นอน… มีเพียงแต่ที่นอนอันเล็ก ๆ แบบง่าย ๆ ของเขมร พร้อมทั้งผ้าห่มสีแดง และต้องนอนทั้ง ๆ ที่สวมถุงเท้า และต่อไปก็คงต้องเดินด้วยเท้าเปล่าเนื่องจากรองเท้าที่ทำด้วยกระดาษแข็งขาดหมดแล้ว
แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังนับว่าฟุ่มเฟือยเกินไป… เมื่อเทียบกับท่านสังฆราชผู้สูงศักดิ์ เพราะท่านนอนบนเสื่อธรรมดา ๆ โดยไม่มีที่นอนหรือหมอนแต่อย่างใด
พวกเซอร์ต้องกวาดวัด ด้วยกิ่งไม้ที่มีใบติดอยู่ และล้างทำความสะอาดวัด ด้วยเศษผ้าและน้ำ 3 หรือ 4 ตะกร้า ซึ่งตะกร้า คือตะกร้าที่ทาด้วยน้ำมันสน ที่พวกผู้หญิง และเด็กมักจะแบกอยู่บนบ่า พวกเซอร์ได้ทำสวน หว่าน รดน้ำ และไถคราดทำ ให้สวนดูสวยงาม และมีชีวิตชีวา
แต่ทั้งหมดนี้ มิได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความสุขของพวกเซอร์ เพราะพวกเซอร์ดำเนินชีวิตโดยมอบตนไว้กับพระอารักขญาณ ทุกคนมีความรัก… ห่วงใยซึ่งกันและกัน… มีอธิการิณีที่แสนดี และเพื่อนร่วมงานที่แสนดี… พระเป็นเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ดูแลพวกเซอร์อย่างดียิ่ง
ถึงแม้ว่าหนองแสงจะอยู่ห่างไกลจากบรรดาบ้านทั้งหลายของคณะ เพราะอุบลซึ่งเป็นบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุด ก็ยังต้องใช้เวลาเดินทางถึง 8 วัน แต่พระเป็นเจ้าทรงชดเชยให้ด้วยว่า พวกเซอร์สามารถปรับตัวเข้ากับความทุกข์ยากต่าง ๆ ได้ถึงแม้ว่าในวันแรก ๆจะยากลำบากมาก แต่ภายหลังก็รู้สึกถึงความสุขมากยิ่งขึ้น
36 ปีที่หนองแสง… “บ้านแห่งรักและเมตตา” ที่คณะเซอร์ได้อยู่ท่ามกลางคนจนที่น่าสงสาร… เด็กกำพร้า… เด็กอ่อน… ผู้ป่วย… และภคินีพื้นเมือง แต่เซอร์ทุกท่าน ก็มิได้ท้อถอยเพราะ “ที่นี่คือสวรรค์บนแผ่นดิน” อย่างแท้จริง